Search
Close this search box.

คิดบวก เริ่มที่ไหน

Kru-Sanit.com thumbnail
Facebook
Twitter
LinkedIn

คิดบวก คืออะไร?

เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีปัญหาในการดำเนินชีวิตกันท้้งนั้น ปัญหาการเรียนบ้าง การทำงานบ้าง ยากบ้าง ง่ายบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่บางคนก็สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นให้ผ่านได้ด้วยดี ในขณะที่บางคนนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังทำให้ตนเองและคนรอบข้างเกิดภาวะเครียด กังวล หงุดหงิด หนักกว่านั้นเป็นโรคซึมเศร้า และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำเนินชีวิตได้เลยทีเดียว การฝึก “คิดบวก” ช่วยเราได้

ก่อนอื่นอยากให้ผู้อ่านทำความเข้าใจก่อนว่า การ “คิดบวก” นั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาคำตอบหรือแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แบบตายตัว หรือหาว่าอะไรถูก อะไรผิด แต่จะช่วยให้เรามองเห็นเหตุผล เพื่อที่จะยอมรับและเข้าใจในปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่กำลังจะเป็นไป หรือจะเรียกภาษาง่าย ๆ ว่า “ทำใจ” ก็พอได้นะ

คิดบวก แล้วสุขจริงหรือ?

คุณจะรู้สึกอย่างไร? เมื่อภรรยาใช้ให้ปั่นจักรยานของลูกชายไปตลาดเพื่อซื้อไข่ไก่ แล้วปรากฎว่าโซ่รถจักรยานเกิดขาดระหว่างทางกลับจากตลาด ทำให้ต้องเดินจูงรถจักรยาน พร้อมประคองไข่(ไก่)กลับบ้านเป็นระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร (นี่ไม่ใช่ชีวิตจริงของผมนะ 555)

คิดบวก

สำหรับคนที่คิดบวก ก็คงจะต้องยอมรับโดยดีว่าโซ่มันก็ขาดไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่ต้องหงุดหงิด วันนี้ได้เดินออกกำลังกาย จูงจักรยาน พร้อมประคองไข่(ไก่)กลับบ้าน และโชคดีมากที่เป็นเรา ถ้าเป็นภรรยา หรือคนอื่น ๆ ที่เรารักปั่นจักรยานออกมาเอง  อาจจะเกิดอุบัติเหตุหรือถึงขั้นได้รับบาดเจ็บก็เป็นได้ ส่วนคนที่ “คิดลบ” ก็อาจจะหงุดหงิด บ่น อารมณ์เสีย พาลโทษลูกชายที่เป็นเจ้าของจักรยานว่าดูแลจักรยานไม่ดี รวมทั้งโกรธภรรยาว่าทำไมต้องมาซื้อไข่ในเวลานี้ด้วย

นอกจากจะช่วยให้เรามีสติในการมองปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา มีสติ มีเหตุผล ไม่ฟุ้งซ่าน หรือร้อนรนจนทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เรามีความสุขในชีวิตและเป็นที่รักของผู้อื่น เพราะคนที่คิดบวกมักจะเป็นคนอารมณ์ดี มีความจริงใจ เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย เข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล พร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

 

อะไรคืออุปสรรคของการคิดบวก

ฟังดูมันง่ายมาก แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบนี้ หากเราเปรียบสมองของเรา (ที่มีหน้าที่คิดให้บวก) เสมือนโรงงานที่มีหน้าที่ผลิตสินค้า โดยปกติโรงงานก็จะเลือกผลิตสินค้าที่เป็นที่นิยมของลูกค้าเท่านั้น สมองก็เช่นกัน จะคิดหรือสั่งการสิ่งต่าง ๆ ตามลักษณะนิสัยพื้นฐาน ความคาดหวัง หรือพฤติกรรมที่บุคคลนั้นต้องการแสดงออกมาบ่อย ๆ

ลองดูตัวอย่างนี้ดูนะครับ คุณพ่อที่เป็นคนเจ้าชู้มักจะหวงลูกสาวของตนเองมากเกินปกติ เพราะสมองจะคิดว่าหนุ่ม ๆ ที่มาจีบลูกสาวนั้นเจ้าชู้เหมือนตนเอง หรืออีกตัวอย่างคือ เพื่อนเราคนนึงรีบซื้อขนมมาฝากเราทันทีหลังจากที่เราเพิ่งจ่ายค่าอาหารกลางวันให้ เพราะเค้าคิดว่าคนอื่นจะมองว่าเค้าเป็นคนโลภถ้าไม่ซื้อมาคืน พอจะเห็นภาพมั้ยครับ

อยากคิดบวก เริ่มที่ไหน?

ลองทดสอบกับตัวเองง่าย ๆ ดูครับว่าเราเป็นคน “คิดบวก” มั้ย ให้นึกถึงพยัญชนะไทยมาสักหนึ่งตัว เช่น ร. แล้วให้พูดคำหรือวลีที่มีความหมายดีๆ ออกมา โดยมี ร. เป็นพยัญชนะนำ เช่น ร่ำรวย รักเสมอ รุ่งโรจน์ เป็นต้น คำไหนคิดได้แล้วแต่ความหมายไม่ดี ห้ามเปล่งเสียงออกมา (การไม่พูดเปรียบเสมือนสินค้านี้ลูกค้าไม่นิยม นาน ๆ ไป สมองจะลืมคำนี้ไปเลย) แล้วลองเปลี่ยนพยัญชนะไปเรื่อย ๆ ตัวยิ่งยากยิ่งดีครับ เช่น ญ ฐ ฌ ………… หากใครมีลูกเล็ก ๆ ลองนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับลูกดูนะครับ คุณพ่อขับรถ คุณแม่ก็ขานพยัญชนะ ให้คุณพ่อ กับคุณลูกสลับกันพูดคำดีดีจากพยัญชนะนั้น ใครคิดไม่ออกก็แพ้ไป เช่น คุณแม่ขาน ม. คุณลูกตอบ “มั่งคั่ง” คุณพ่อตอบทันที “มีสุข” คุณลูกกลัวแพ้รีบตอบ “เมียน้อย”…………………ให้ไปต่อที่พยัญชนะ ฌ ได้เลยครับ ฌาปานกิจ

เมื่อฝึกจนมีคำดีดีเข้ามาในพจนานุกรมสมองมากขึ้นแล้ว ก็ต้องนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขยายผลครับ เริ่มใช้คำดีดีเหล่านั้น ให้กำลังใจตนเองทุกวัน ชื่นชมตนเอง เราเก่ง เราดี เรายอดเยี่ยม เราทำได้ เราสวยมาก (แค่คิ้วน้อยไปหน่อย) แล้วก็ตั้งเป้าชมคนอื่นให้ได้อย่างน้อยวันละ 3-5 คน คำดีดีเหล่านี้ เปลี่ยนให้เราเป็นคนคิดบวก มีความสุขได้จริง ๆ นะครับ ลองฝึกกันดูแล้วมาเล่าให้ฟังด้วยนะครับ แต่ถ้าอยากจะลองนำไปใช้ฝึกผู้ใหญ่ในองค์กรต้องมีวิธีการที่แยบยลครับ

Feature Image โดย Gerd Altmann จาก Pixabay

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่ออนาคตไล่ล่าเรา

สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแนะแนวให้กับครูแนะแนวในจังหวัด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567

ฉากทัศน์สังคมการทำงานของไทยก่อนปี 2030

“ฉากทัศน์สังคมการทำงานก่อนปี 2030” กองส่งเสริมการมีงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน รัชดาภิเษก วันที่ 14 มีนาคม 2567