Search
Close this search box.

เรียนให้ประสบความสำเร็จ เริ่มที่ไหน

Kru-Sanit.com thumbnail
Facebook
Twitter
LinkedIn

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต่างก็คาดหวังจะได้เห็นลูกของตน เรียนให้ประสบความสำเร็จ แต่…การที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จในแต่ละเรื่องนั้น จำเป็นต้องผ่านการฝึกฝน ใช้ความพยายาม ความอดทน และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพ่อกับแม่คือองค์ประกอบสำคัญ โดยจะต้องเข้าใจก่อนว่าความสำเร็จในการเรียนนั้นคืออะไร เริ่มมาจากตรงไหน แล้วค่อยกำหนดบทบาทตนเองให้เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันลูกเพื่อเรียนให้ประสบความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เรียนให้ประสบความสำเร็จ หมายถึงอะไร

เรียนให้ประสบความสำเร็จ ในมุมมองของผมไม่ได้หมายถึงเรียนได้คะแนนดี หรือเกรด 4 นะครับ (แต่นั่นคือปลายทางที่เรายังแอบคาดหวัง เพราะระบบการศึกษาในประเทศไทยยังให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่มาก) แต่ คือการเรียนแบบมีความสุข เรียนเพราะอยากรู้ เรียนเพื่อพัฒนาตนเอง เรียนแล้วนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ นั่นเองครับ

ต้นเหตุแห่งการเรียนให้ประสบความสำเร็จ

การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพฤติกรรมความมุ่งมั่นในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ซึ่งหมายถึงการมีความมานะพยายามและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ อย่างเต็มที่ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการสอนลูกเรียนให้ประสบความสำเร็จแล้ว พฤติกรรมความมุ่งมั่นในการเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องสอนให้เกิดขึ้นกับลูกเป็นอันดับแรก

สิ่งที่ทำให้คนเรามีพฤติกรรมความมุ่งมั่นต่างกัน

การที่คนเรามีพฤติกรรมความมุ่งมั่นต่างกันนั้นมีสาเหตุมาจากการมีเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์ต่างกัน ซึ่งเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์หมายถึงเหตุการณ์หรือสิ่งที่บุคคลคาดหวังจะให้เกิดขึ้น เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ เช่น เด็กที่มีเป้าหมายในการเรียนเพื่อความรู้ กับ เรียนเพื่อสอบให้ผ่าน จะมีพฤติกรรมความมุ่งมั่นที่แตกต่างกัน เด็กที่เรียนเพื่อความรู้จะตั้งใจอ่านหนังสือ อ่านอย่างสม่ำเสมอ ส่วนเด็กที่เรียนเพื่อสอบให้ผ่าน จะท่องหรืออ่านเฉพาะเนื้อหาที่จะสอบและอ่านช่วงก่อนสอบเท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ เป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมนั่นเอง

เป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์มีกี่แบบ

เป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์

เข้าหา (Approach)

หลีกเลี่ยง (Avoidance)

เพื่อความเชี่ยวชาญ

(Mastery)

เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ เพิ่มทักษะใหม่ ๆ อย่างเต็มศักยภาพของตนเอง

เพื่อหลีกเลี่ยงจากสภาวะขาดความเชี่ยวชาญในงาน ขาดการพัฒนาตนเอง

เพื่อการแสดงผลงาน

(Performance)

เพื่อแสดงให้ผู้อื่นรู้ว่าตนเองมีความสามารถ และทำผลงานได้ดีกว่าคนอื่น

เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกมองว่าเป็นคนด้อยความสามารถ

เราลองมาดูตัวอย่างเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกันจากการปฏิบัติเรื่องเดียวกันดูนะครับ แล้วเราจะเห็นว่าเมื่อเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์ต่างกัน พฤติกรรมจะต่างกันแน่นอน สมศักดิ์ สมศรี สมชาย และสมหญิง เป็นเพื่อนกัน ทั้ง 4 คนตัดสินใจเรียนต่อในระดับ ปริญญาโท โดยมีเป้าหมายแตกต่างกันดังนี้

สมศักดิ์ เรียนเพื่อจะนำความรู้ไปเพิ่มโอกาสในการทำงาน เขาจึงพยายามเรียนรู้ให้มากที่สุดแบบเต็มศักยภาพของตนเอง เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ แบบนี้เรียกว่า การมีเป้าหมายเพื่อความเชี่ยวชาญแบบเข้าหา (Mastery-Approach Goal Orientation) คือ เรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งความเชี่ยวชาญในงาน ความรู้ความสามารถ และทักษะใหม่ ๆ หรือการพัฒนาตนเองเต็มศักยภาพของตนเอง เรียกสั้น ๆ ว่าเรียนเพราะอยากรู้

สมศรี เรียนเพื่อให้แน่ใจว่าตนเองจะมีความรู้มากพอที่จะทำงานในตำแหน่งเดิมนี้ได้  จึงพยายามเรียนรู้ให้มากที่สุดเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้นเท่านั้น แบบนี้เรียกว่า การมีเป้าหมายเพื่อความเชี่ยวชาญแบบหลีกเลี่ยง (Mastery-Avoidance Goal Orientation) คือ เรียนเพื่อหลีกเลี่ยงจากสภาวะขาดความเชี่ยวชาญในงาน ขาดการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาตนเองได้ต่ำกว่าศักภาพของตนเอง เรียกสั้น ๆ ว่าเรียนเพราะต้องเรียน

สมชาย เรียนเพื่อต้องการให้คนในที่ทำงานยอมรับว่าเขาก็เป็นคนเก่งเหมือนกันนะ จึงพยายามเรียนให้จบตามระยะเวลาของหลักสูตรแบบเน้นผลการเรียนด้วย แบบนี้เรียกว่า การมีเป้าหมายเพื่อแสดงผลงานแบบเข้าหา (Performance-Approach Goal Orientation) เป็นเป้าหมายเพื่อแสดงว่า ตนเองมีความสามารถทำผลงานได้ดีกว่าคนอื่น หรือได้รับการประเมินว่ามีความสามารถมากกว่าคนอื่น เรียกสั้น ๆ ว่าเรียนเพื่อโชว์

สมหญิง เรียนเพื่อไม่ต้องการให้คนอื่นในที่ทำงานมองว่าเธอนั้นด้อยความสามารถกว่าเพื่อนคนอื่น จึงพยายามเรียนให้จบตามระยะเวลาของหลักสูตรเท่านั้นโดยไม่เน้นผลการเรียน แบบนี้เรียกว่า การมีเป้าหมายเพื่อแสดงผลงานแบบหลีกเลี่ยง (Performance-Avoidance Goal Orientation) เป็นเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงจากการแสดงออกว่าตนด้อยความสามารถ ทำผลงานด้อยกว่าคนอื่น หรือได้รับการประเมินว่ามีความสามารถด้อยกว่าคนอื่น เรียกสั้น ๆ ว่าเรียนเพราะกลัวแพ้


คุณพ่อคุณแม่พอจะเห็นภาพแล้วใช่มั้ยว่า การสอนให้ลูกมีเป้าหมายเพื่อความเชี่ยวชาญแบบเข้าหา (Mastery-Approach Goal Orientation) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เรียนเพราะอยากรู้นั้น จะส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมความมุ่งมั่น ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนให้ประสบความสำเร็จได้มากที่สุด

สาเหตุที่ทำให้คนเรามีเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แตกต่างกัน

การที่บุคคลมีเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์แตกต่างกันนั้นมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยด้วยกันคือ ปัจจัยบุคคล คือ ความเชื่อเกี่ยวกับความฉลาดของตนเอง และปัจจัยบริบท คือ การรับรู้เกี่ยวกับวิธีการที่โรงเรียน ชั้นเรียน ครู หรือพ่อแม่สื่อผ่านกิจกรรม

ความเชื่อเกี่ยวกับความฉลาดของตนเอง

เด็กที่เชื่อว่าความฉลาดของตนเองพัฒนาได้ จะให้ความสำคัญกับการเรียนเพื่อพัฒนาตนเอง จึงมีเป้าหมายในการเรียนเพื่อความเชี่ยวชาญ (Mastery) แต่หากเชื่อว่าความฉลาดเป็นของที่ติดตัวมาเพิ่มไม่ได้ จะมีเป้าหมายเพื่อการแสดงผลงาน (Performance) และถ้าหากมีความมั่นใจในความฉลาดของตนเองด้วย ก็จะเลือกงานท้าทาย เพราะมองว่านั่นคือการเรียนรู้ (Approach) ส่วนเด็กที่ขาดความมั่นใจในความฉลาดของตนเอง ก็จะกังวลและมีแน้วโน้มที่จะเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ต่าง ๆ (Avoidance)

การรับรู้เกี่ยวกับวิธีการที่ครู หรือพ่อแม่สื่อผ่านกิจกรรม

เด็กที่รับรู้ได้ว่าครู หรือพ่อแม่ ยอมรับและมองว่าความผิดพลาดของเขาเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าทำให้เขาได้เรียนรู้ หรือพ่อแม่มักจะให้ความสำคัญกับการตั้งใจในการเรียนมากกว่าผลการเรียน จะมีเป้าหมายในการเรียนเพื่อความเชี่ยวชาญ (Mastery) ส่วนเด็กที่รับรู้ได้ว่าครู หรือพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบหรือแข่งขัน เช่น ครูมักจะชื่นชมและยกตัวอย่างนักเรียนที่มีผลการเรียนดีให้ฟังเพื่อให้เป็นแบบอย่าง หรือพ่อแม่มักจะสัญญาว่าจะให้รางวัลถ้าทำคะแนนได้สูงที่สุดของห้อง จะมีเป้าหมายในการเรียนเพื่อแสดงผลงาน (Performance

พ่อแม่กับครูจะสื่ออย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ

เด็กจะรับรู้เกี่ยวกับวิธีการที่ครู หรือพ่อแม่สื่อผ่านกิจกรรม โดยผ่านข้อมูล 2 ลักษณะคือข้อความโดยตรงกับข้อความโดยอ้อม

ข้อความโดยตรง

คือ การสื่อสารกับลูกตรง ๆ ระหว่างการสอนหรือพูดคุยกัน หากต้องการสอนให้ลูกทอดไข่เจียว พ่อแม่ที่ต้องการสร้างเป้าหมายเพื่อความเชี่ยวชาญ จะบอกกับลูกถึงความมุ่งหมายที่แท้จริงที่พัฒนาความสามารถของเขา เช่น “ลองทอดไข่เจียวตามความคิดของลูกให้แม่ดูหน่อย อร่อยหรือไม่ไม่เป็นไร” ในทางตรงข้าหากต้องการสร้างเป้าหมายเพื่อแสดงผลงาน ก็จะบอกกับเด็กโดยให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบ เช่น “ลองทอดไข่เจียวตามความคิดของลูกให้แม่ดูหน่อย ถ้าไข่ไหม้ ถือว่าสอบไม่ผ่านนะ”

ข้อความโดยอ้อม

คือ การกระทำอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เป็นการบอกตรง ๆ เช่น การเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง พ่อแม่หรือครูจะต้องให้งานที่มีความหมายต่อเด็กคนนั้น ท้าทายความสามารถเล็กน้อย ซึ่งงานอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาการทำงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ การแสดงความคิดเห็น การแก้ปัญหาจากความผิดพลาด ประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการ มีการให้ผลย้อนกลับกับเด็กโดยตรง และผลการประเมินต้องเป็นความลับ สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาปฏิบัติกิจกรรมถ้าเห็นว่าเด็กกำลังเกิดการเรียนรู้

 

สรุป สรุป สรุป

ถ้าจะให้ลูกหรือลูกศิษย์เรียนให้ประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่และครูจะต้อง “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน และที่สำคัญต้องปฏิรูปวิธีสอบ” ด้วยครับ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่ออนาคตไล่ล่าเรา

สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแนะแนวให้กับครูแนะแนวในจังหวัด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567

ฉากทัศน์สังคมการทำงานของไทยก่อนปี 2030

“ฉากทัศน์สังคมการทำงานก่อนปี 2030” กองส่งเสริมการมีงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน รัชดาภิเษก วันที่ 14 มีนาคม 2567