เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การแบ่งระดับผลการเรียนในแต่ละรายวิชานั้น จะกำหนดให้มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน เด็กจะได้เกรด 0 ถ้าทำคะแนนได้ต่ำกว่า 50 คะแนน เด็กจะได้เกรด 1 ถ้าทำคะแนนได้ระหว่าง 50-59 คะแนน จะได้เกรด 2 ถ้าทำคะแนนได้ระหว่าง 60-69 คะแนน จะได้เกรด 3 ถ้าทำคะแนนได้ระหว่าง 70-79 คะแนน และจะได้เกรด 4 ถ้าทำคะแนนได้ตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป การศึกษาบางระดับก็แบ่งระดับเกรดย่อยออกเป็น 8 เกรด (0, 1, 1.5, 2, 2.5, 3, 3.5, 4) ในแต่ละภาคเรียน เด็ก ๆ มีวิชาที่จะต้องเรียน 8 – 10 วิชา แต่ละวิชาก็จะมีหน่วยกิตเป็นตัวบอกถึงความสำคัญของรายวิชานั้น ๆ วิชาที่มีหน่วยกิตสูง ๆ คือวิชาที่มีความสำคัญต่อหลักสูตรนั้นมาก ๆ
เกรดเฉลี่ย คำนวณอย่างไร?
เกรดเฉลี่ย หรือ GPA (Grade Point Average) คือผลการเรียนสะสมของเด็กที่เรียนตลอดภาคเรียน หรือตลอดหลักสูตร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสะท้อนให้เห็นระดับจิตพิสัย (ความตั้งใจ) ความรู้ ความสามารถของเด็กแต่ละคน คำนวณได้จากการนำผลรวมของผลคูณระหว่างหน่วยกิตกับระดับผลการเรียน (เกรด 4, 3, 2, 1 หรือ 0) ที่เด็กคนนั้นได้รับในแต่ละวิชา แล้วหารด้วยผลรวมของหน่วยกิตทุกรายวิชา
เกรดเฉลี่ย บอกอะไรได้บ้าง?
ผู้ปกครองหลายคนยังคงใช้เกรดเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน เด็กคนไหนได้เกรดเฉลี่ยสูงแปลว่าเก่ง แต่ในความเห็นของผมเกรดเฉลี่ยบอกได้แค่ว่า “เด็กคนนั้นปฏิบัติตามสิ่งที่ครูกำหนดไว้ได้มากแค่ไหน” ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในอนาคตได้ เด็กที่มีเกรดเฉลี่ยสูงอาจไม่มีความเชี่ยวชาญจริงในวิชานั้น ๆ ก็เป็นได้ เพราะมีเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์เพียงเพื่อแสดงผลงานแบบหลีกเลี่ยง (Performance-Avoidance Goal Orientation) เท่านั้น จากเหตุผลของผมทำให้เห็นว่าการใช้เกรดเฉลี่ยเป็นตัวกำหนดว่าเด็กต้องเรียนอะไร หรือไม่ควรเรียนอะไรจึงไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กสักเท่าไหร่
แล้วเราจะใช้อะไรวัดความถนัด
ศาตราจารย์ โฮเวิร์ต การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ได้นำเสนอทฤษฎีที่มีชื่อว่า “พหุปัญญา” (Multiple Intelligence) โดยอธิบายว่า ปัญญาของเด็กไม่สามารถวัดออกมาได้ แต่จะเห็นได้จากการกระทำและความสามารถในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 9 ด้าน โดยเด็กทุกคนจะมีปัญญาทั้ง 9 ด้าน อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนสูงทุกด้าน บางคนอาจสูงเพียงด้าน หรือ สองด้าน ส่วนด้านอื่น ๆ ปานกลาง ดังนี้ คือ
- ปัญญาด้านภาษา คือ มีความสามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ
- ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ คือ มีความสามารถในการคิดแบบมีเหตุมีผล คิดเชิงนามธรรม คิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์
- ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ คือ มีความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี มองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่งอย่างสัมพันธ์กัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกได้อย่างกลมกลืน
- ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว คือ มีความสามารถในการใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีความไวทางประสาทสัมผัส
- ปัญญาด้านดนตรี คือ มีความสามารถในการซึมซับ เข้าถึงสุนทรียทางดนตรี การได้ยิน การรับรู้ จดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ เล่นดนตรี ร้องเพลงได้
- ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ มีความสามารถเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนา มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และตอบสนองได้อย่างเหมาะสม
- ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง คือ มีความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์
- ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา คือมีความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฎการณ์ และการรังสรรค์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ
- ปัญญาในการคิดใคร่ครวญ คือ ชอบคิด สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต
ศาตราจารย์ โฮเวิร์ต การ์ดเนอร์ ย้ำว่า ผู้ปกครองสามารถพัฒนาปัญญาแต่ละด้านของเด็กให้สูงขึ้นถึงระดับใช้การได้ถ้ามีการฝึกฝนที่ดี มีการให้กำลังใจที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปัญญาแต่ละด้านสามารถทำงานร่วมกันได้ เช่น ในการดำรงชีวิตประจำวัน เราอาจต้องใช้ปัญญาด้านภาษา (1) ในการพูด อ่าน เขียน ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (2) ในการคิดเงินทอง ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (6) ในการพบปะเข้าสังคม และทำให้ตนเองมีความสุขด้วยการใช้ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (7) นอกจากนี้ปัญญาแต่ละด้านอาจจะแสดงออกได้หลาย ๆ ทาง เช่น คนที่มีปัญญาทางภาษา อาจจะอ่านหนังสือไม่ออก แต่สามารถสื่อสาร เล่าเรื่องได้เก่ง หรือน่าฟัง ก็เป็นได้
สรุป สรุป สรุป
คุณพ่อคุณแม่เห็นมั้ยครับ ปัญญาทั้ง 9 ด้านนั้นจะวัดได้จากการกระทำของเด็กที่แสดงออกมาเท่านั้น ไม่สามารถวัดได้จากข้อสอบ จงให้ความสำคัญกับพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ ใช้คำถามปลายเปิดให้ลูกได้พูด ได้แสดงออก แล้วคอยสังเกตว่าลูกเราเด่นเรื่องอะไร ก็ส่งเสริมในเรื่องนั้นเลยครับ