Search
Close this search box.

เกรดเฉลี่ยบอกความถนัดไม่ได้

Kru-Sanit.com thumbnail
Facebook
Twitter
LinkedIn

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การแบ่งระดับผลการเรียนในแต่ละรายวิชานั้น จะกำหนดให้มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน เด็กจะได้เกรด 0 ถ้าทำคะแนนได้ต่ำกว่า 50 คะแนน เด็กจะได้เกรด 1 ถ้าทำคะแนนได้ระหว่าง 50-59 คะแนน จะได้เกรด 2 ถ้าทำคะแนนได้ระหว่าง 60-69 คะแนน จะได้เกรด 3 ถ้าทำคะแนนได้ระหว่าง 70-79 คะแนน และจะได้เกรด 4 ถ้าทำคะแนนได้ตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป การศึกษาบางระดับก็แบ่งระดับเกรดย่อยออกเป็น 8 เกรด (0, 1, 1.5, 2, 2.5, 3, 3.5, 4) ในแต่ละภาคเรียน เด็ก ๆ มีวิชาที่จะต้องเรียน 8 – 10 วิชา แต่ละวิชาก็จะมีหน่วยกิตเป็นตัวบอกถึงความสำคัญของรายวิชานั้น ๆ วิชาที่มีหน่วยกิตสูง ๆ คือวิชาที่มีความสำคัญต่อหลักสูตรนั้นมาก ๆ

เกรดเฉลี่ย คำนวณอย่างไร?

เกรดเฉลี่ย หรือ GPA (Grade Point Average) คือผลการเรียนสะสมของเด็กที่เรียนตลอดภาคเรียน หรือตลอดหลักสูตร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสะท้อนให้เห็นระดับจิตพิสัย (ความตั้งใจ) ความรู้ ความสามารถของเด็กแต่ละคน คำนวณได้จากการนำผลรวมของผลคูณระหว่างหน่วยกิตกับระดับผลการเรียน (เกรด 4, 3, 2, 1 หรือ 0) ที่เด็กคนนั้นได้รับในแต่ละวิชา แล้วหารด้วยผลรวมของหน่วยกิตทุกรายวิชา

เกรดเฉลี่ย บอกอะไรได้บ้าง?

ผู้ปกครองหลายคนยังคงใช้เกรดเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน เด็กคนไหนได้เกรดเฉลี่ยสูงแปลว่าเก่ง แต่ในความเห็นของผมเกรดเฉลี่ยบอกได้แค่ว่า “เด็กคนนั้นปฏิบัติตามสิ่งที่ครูกำหนดไว้ได้มากแค่ไหน” ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในอนาคตได้ เด็กที่มีเกรดเฉลี่ยสูงอาจไม่มีความเชี่ยวชาญจริงในวิชานั้น ๆ ก็เป็นได้ เพราะมีเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์เพียงเพื่อแสดงผลงานแบบหลีกเลี่ยง (Performance-Avoidance Goal Orientation) เท่านั้น จากเหตุผลของผมทำให้เห็นว่าการใช้เกรดเฉลี่ยเป็นตัวกำหนดว่าเด็กต้องเรียนอะไร หรือไม่ควรเรียนอะไรจึงไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กสักเท่าไหร่

แล้วเราจะใช้อะไรวัดความถนัด

ศาตราจารย์ โฮเวิร์ต การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ได้นำเสนอทฤษฎีที่มีชื่อว่า “พหุปัญญา” (Multiple Intelligence) โดยอธิบายว่า ปัญญาของเด็กไม่สามารถวัดออกมาได้ แต่จะเห็นได้จากการกระทำและความสามารถในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 9 ด้าน โดยเด็กทุกคนจะมีปัญญาทั้ง 9 ด้าน อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนสูงทุกด้าน บางคนอาจสูงเพียงด้าน หรือ สองด้าน ส่วนด้านอื่น ๆ ปานกลาง ดังนี้ คือ

  1. ปัญญาด้านภาษา คือ มีความสามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ
  2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ คือ มีความสามารถในการคิดแบบมีเหตุมีผล คิดเชิงนามธรรม คิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์
  3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ คือ มีความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี มองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่งอย่างสัมพันธ์กัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกได้อย่างกลมกลืน
  4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว คือ มีความสามารถในการใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีความไวทางประสาทสัมผัส
  5. ปัญญาด้านดนตรี คือ มีความสามารถในการซึมซับ เข้าถึงสุนทรียทางดนตรี การได้ยิน การรับรู้ จดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ เล่นดนตรี ร้องเพลงได้
  6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ คือ มีความสามารถเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนา มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง และตอบสนองได้อย่างเหมาะสม
  7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง คือ มีความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์
  8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา คือมีความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฎการณ์ และการรังสรรค์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ
  9. ปัญญาในการคิดใคร่ครวญ คือ ชอบคิด สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต

ศาตราจารย์ โฮเวิร์ต การ์ดเนอร์ ย้ำว่า ผู้ปกครองสามารถพัฒนาปัญญาแต่ละด้านของเด็กให้สูงขึ้นถึงระดับใช้การได้ถ้ามีการฝึกฝนที่ดี มีการให้กำลังใจที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปัญญาแต่ละด้านสามารถทำงานร่วมกันได้ เช่น ในการดำรงชีวิตประจำวัน เราอาจต้องใช้ปัญญาด้านภาษา (1) ในการพูด อ่าน เขียน ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (2) ในการคิดเงินทอง ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (6) ในการพบปะเข้าสังคม และทำให้ตนเองมีความสุขด้วยการใช้ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (7) นอกจากนี้ปัญญาแต่ละด้านอาจจะแสดงออกได้หลาย ๆ ทาง เช่น คนที่มีปัญญาทางภาษา อาจจะอ่านหนังสือไม่ออก แต่สามารถสื่อสาร เล่าเรื่องได้เก่ง หรือน่าฟัง ก็เป็นได้


สรุป สรุป สรุป

คุณพ่อคุณแม่เห็นมั้ยครับ ปัญญาทั้ง 9 ด้านนั้นจะวัดได้จากการกระทำของเด็กที่แสดงออกมาเท่านั้น ไม่สามารถวัดได้จากข้อสอบ จงให้ความสำคัญกับพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ ใช้คำถามปลายเปิดให้ลูกได้พูด ได้แสดงออก   แล้วคอยสังเกตว่าลูกเราเด่นเรื่องอะไร ก็ส่งเสริมในเรื่องนั้นเลยครับ

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่ออนาคตไล่ล่าเรา

สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแนะแนวให้กับครูแนะแนวในจังหวัด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567

ฉากทัศน์สังคมการทำงานของไทยก่อนปี 2030

“ฉากทัศน์สังคมการทำงานก่อนปี 2030” กองส่งเสริมการมีงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน รัชดาภิเษก วันที่ 14 มีนาคม 2567