Search
Close this search box.

ทำไมต้องส่งลูกเรียนกวดวิชา

Kru-Sanit.com thumbnail
Facebook
Twitter
LinkedIn

ความทุกข์ร้อนมากที่สุดของพ่อแม่ประการหนึ่งคือการกลัวว่าลูกตัวเองจะเรียนไม่ทัน เรียนเก่งสู้เพื่อนไม่ได้ ไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนดัง ๆ ได้ หรือแม้กระทั่งกังวลไปถึงอนาคตว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงไม่ได้ การส่งลูกไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมในช่วงเวลาเย็นหรือวันหยุดนั้นจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่ภายใต้แนวคิดที่ว่า กันไว้ดีกว่าแก้

ส่งลูกเรียนกวดวิชาแล้วจะประสบความสำเร็จจริงหรือ?

ไม่เสมอไปหรอกครับ อย่างที่ผมเคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์ ความสำเร็จของผู้เรียนแต่ละคนขึ้นอยู่กับเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์ของตนเองที่ตั้งไว้ พูดง่าย ๆ ก็คือเด็กอยากเรียนมั้ย? ถ้าอยากเรียนก็จะไม่มีปัญหา การเรียนกวดวิชาสามารถช่วยยกระดับผลการเรียนได้ แต่ถ้าไม่อยากเรียนแล้วถูกคุณพ่อคุณแม่บังคับเรียน ข้อหลังนี้รับรองว่าคุณพ่อคุณแม่เสียสตางค์ฟรี ๆ แน่นอน

ส่งลูกเรียกวดวิชา เวลาไหนดีที่สุด?

คุณพ่อคุณแม่ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องนั่งทำงานต่อเนื่องทั้งวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น โดยมีเวลาพักเพียง 1 ชั่วโมง เราจะรู้สึกอย่างไร ปัจจุบันนี้โรงเรียนปกติทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะจัดให้มีห้องเรียนโปรแกรมพิเศษอยู่แล้ว เช่น ห้อง KING, Gifted, IEP, GEP, ESC, MSEP, ISM, GATE, TEP และอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วแต่จะตั้งชื่อให้มันดูน่าดึงดูดสำหรับผู้ปกครอง นอกจากจะมีค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าการเรียนในห้องปกติแล้ว ก็จะมีรายวิชาและจำนวนชั่วโมงที่ต้องเรียนเพิ่มขึ้นมาในระหว่างสัปดาห์อีก พ่อแม่บางบ้านก็ยังคิดว่าไม่พอต้องเรียนอีกสักหน่อยเพื่อเป็นการทบทวน (จะไหวมั้ยน้อ)

เด็กกลุ่มนี้จะมีตารางเรียนในโรงเรียนที่ถือว่าหนักมากอยู่แล้ว เรียนกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น และยังต้องทำการบ้านที่เป็นโครงงานศึกษาอิสระ งานกลุ่ม งานเดี่ยว งานคณะสี (กรณีเด็กโต)  แบบว่าเวลาจะนอนยังแทบจะไม่มี นี่ยังไม่คิดถึงระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนที่ไกลแสนไกลสำหรับบางคน บวกกับการจราจรที่เด็ก ๆ ต้องผจญอยู่บนถนนอีกด้วยนะครับ (เอาเวลาไหนเรียนพิเศษดี)

เรียนในระบบไม่พอหรือ?

ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับโจทย์ของผู้ปกครองเลยครับ ว่าโจทย์คืออะไร ถ้าโจทย์คือต้องเก่ง ต้องเหนือกว่าคนอื่น ต้องมีผลการเรียนที่สุดยอดเท่านั้น ก็คงจะตอบว่าการศึกษาในระบบตอบโจทย์ไม่ได้  แต่สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่าการเรียนหนังสือในระบบปกตินั้นเพียงพอและเหมาะสมแล้ว (อาจจะมากไปซะด้วย ถ้าต้องเรียนตั้งแต่ 8 โมงถึง 5 โมงเย็น) และที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการวิจัยใด ๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่าชั่วโมงการเรียนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลทางบวกกับผลการเรียนรู้ของเด็ก

คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมว่าการไปโรงเรียนของเด็ก ๆ ไม่ได้ไปเพื่อเรียนความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียว เด็ก ๆ ยังจะได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ตลอดจนทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่น้อยไปกว่าความรู้ทางวิชาการเลย และทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม และการเล่นแบบสนุกสนานนั่นเอง (พูดง่าย ๆ ก็คือ เวลาเล่นก็ถือเป็นการเรียนรู้เหมือนกันนะครับ)

ส่งลูกเรียนกวดวิชา

เรียนกวดวิชา ประโยชน์เพื่อลูกจริงหรือ?

ประเด็นนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ๆ ที่พ่อแม่ยอมเสียสตางค์ส่งให้เรียนพิเศษเพียงเพื่อลูกจะได้ไม่มีเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่ลูกชอบ (เพราะพ่อแม่ไม่ปลื้ม) หรือส่งไปเรียนเพื่อเป็นการผลักภาระตนเองในช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับลูกโดยส่งลูกให้ไปเรียนพิเศษแทน ประเด็นนี้นอกจากจะเสียสตางค์ฟรีแล้ว อาจจะทำให้เด็กต่อต้านการเรียนรู้เลยก็เป็นได้นะครับ


สรุป สรุป สรุป

ผมเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่นะครับ แล้วผมก็ไม่ได้บอกว่าการเรียนพิเศษ หรือกวดวิชานั้นไม่ดี หรือว่าไม่จำเป็นสำหรับเด็ก หากแต่ต้องการสื่อว่าถ้าเป็นการเรียนที่เด็กมีความสุขจะทำให้เกิดการเรียนรู้มากกว่าการที่ต้องเรียนเพราะถูกบังคับ (ยังไงก็ต้องสายวิทย์คณิตทั้ง ๆ ที่ลูกชอบภาษา มีใครเป็นมั้ย) และแน่นอนครับมันคือหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของพ่อกับแม่ที่จะต้องเป็นผู้แก้ที่ต้นเหตุคือต้องช่วยลูกค้นหาความถนัดที่แท้จริง ช่วยลูกกำหนดโครงสร้างเป้าหมายเชิงสัมฤทธิ์ตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุโดยการบังคับให้เรียนพิเศษแบบไร้เป้าหมาย

ภาพโดย Cole Stivers จาก Pixabay

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่ออนาคตไล่ล่าเรา

สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแนะแนวให้กับครูแนะแนวในจังหวัด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567

ฉากทัศน์สังคมการทำงานของไทยก่อนปี 2030

“ฉากทัศน์สังคมการทำงานก่อนปี 2030” กองส่งเสริมการมีงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน รัชดาภิเษก วันที่ 14 มีนาคม 2567