Search
Close this search box.

การเรียนรู้อย่างมีความหมาย

Kru-Sanit.com thumbnail
Facebook
Twitter
LinkedIn

การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning, David P. Ausubel) ทฤษฎีการเรียนรู้พิ้นฐานที่ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นต้องเข้าใจ เพื่อทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้สอนหลายท่านคงเคยเห็นผู้เรียนทำหน้านิ่ง ๆ เหมือนจะเข้าใจ หรืออาจเคยได้ยินผู้เรียนบ่นว่าเรียนไม่รู้เรื่องหลังจากที่เพิ่งสอนเนื้อหาการเรียนรู้ไป สาเหตุประการหนึ่งของปัญหานี้ คือผู้สอนยังไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่กำลังเรียนรู้กับความรู้เดิมของผู้เรียน หรือยังไม่สามารถทำให้ผู้เรียนนำสิ่งที่เรียนไปใช้ในชีวิตจริงได้ นั่นก็คือการจัดการเรียนรู้นั้นที่ยังไม่มีความหมายสำหรับผู้เรียนนั่นเอง เมื่อการเรียนรู้ไม่มีความหมาย ผู้เรียนก็จะใช้วิธีท่องจำเพื่อให้สอบได้ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะลืมทุกอย่าง

การเรียนรู้อย่างมีความหมาย คืออะไร

ความหมาย ก็ตรงข้ามกับที่เขียนไว้ในย่อหน้าแรกครับ คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้เนื้อหาใหม่ให้สอดคล้องกับความรู้เดิมของผู้เรียน หรือการทำให้ผู้เรียนเข้าใจและรับรู้ถึงวิธีการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตจริงได้นั่นเอง กระบวนการนี้นอกจากจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้มากขึ้นแล้วยังทำให้จดจำเนื้อหาได้นานขึ้นอีกด้วย (Long-Term memory)

David P. Ausubel
David P. Ausubel

การเรียนรู้อย่างมีความหมาย ในวิชาคณิตศาสตร์

ผมเคยมีโอกาสทดสอบผู้เรียนประถมศึกษาตอนปลายกลุ่มหนึ่งให้ช่วยกันแบ่งกระดาษขนาด 40 X 60 ซม. ออกเป็นส่วน ๆ ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ที่สุดแบบไม่ให้เหลือเศษ โดยตั้งคำถามว่า จะได้กระดาษรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกี่รูป และมีขนาดกว้างยาวเท่าไหร่ ผู้เรียนใช้เวลานานมากในการแก้ปัญหา หลายคนพยายามพับกระดาษจนกระดาษเป็นรอยพับเต็มไปหมด วันรุ่งขึ้นผมทำการทดสอบผู้เรียนกลุ่มเดิม โดยเขียนโจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ให้กับผู้เรียนว่า “จงหา ห.ร.ม. ของ 40 และ 60” ใช้เวลาไม่นาน เด็กแย่งกันยกมือตอบว่า “20 ครับ/ค่ะ”

จากตัวอย่างเมื่อสักครู่ แสดงให้เห็นถึงการสอนแบบไม่มีความหมาย หรือเรียกว่าสอนแบบท่องจำนั่นเอง เด็กทุกคนหา ห.ร.ม. ได้ แต่ไม่รู้ว่าในชีวิตจริง นำเรื่อง ห.ร.ม. ไปใช้กับเรื่องอะไรบ้าง

การเรียนรู้อย่างมีความหมาย ในวิชาลูกเสือ-เนตรนารี

เงื่อนพิรอด (ขวาทับซ้ายแล้วพัน ซ้ายทับขวาแล้วพัน) คงไม่มีใครไม่รู้จักเงื่อนในตำนาน ที่ทุกคนต้องเรียน ซึ่งแน่นอนครับ เด็กทุกคนทำได้ ผมทดลองถามผู้เรียนว่าเงื่อนพิรอดมีประโยชน์อย่างไร เด็กตอบได้ทันทีว่า เอาไว้ต่อเชือกที่มีขนาดเท่ากัน ผมจึงถามต่อว่า ในชีวิตประจำวันของเรา เรามีโอกาสต่อเชือกที่มีขนาดเท่ากันตอนไหนบ้าง เด็กตอบทันทีว่า “ไม่มีครับ” ผมจึงให้ผู้เรียน (แต่งชุดลูกเสือในวันนั้น) แกะเชือกรองเท้าแล้วผูกใหม่ ลูกเสือทั้งหมู่ก็ก้มลงแกะเชือกรองเท้าแล้วผูกใหม่ด้วยใบหน้าที่งงยิ่งกว่าเดิม สักพักนายหมู่ก็ตะโกนขึ้นมาว่า “เราต่อเชือกที่มีขนาดเท่ากันทุกวันเลยครับ” แล้วก็มีคำถามต่อว่าแล้วเงื่อนพิรอดมันเกี่ยวอะไรกับเชือกรองเท้าครับ ผมจึงให้ทุกคนผูกเชือกรองเท้าข้างซ้ายด้วยกฎของเงื่อนพิรอด (ซ้ายทับขวา แล้วขวาทับซ้าย) ส่วนข้างขวาให้ผูกฝืนกฎเงื่อนพิรอด (ซ้ายทับขวา แล้วก็ซ้ายทับขวา)  ลูกเสือทุกคนยิ้ม แล้วตะโกนว่า เข้าใจแล้วครับ……….


สรุป สรุป สรุป

เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับผู้เรียน ผู้สอนจำเป็นต้องเชื่อมโยงสิ่งที่จะเรียนให้เข้ากับความรู้เดิมของผู้เรียนให้ได้ และแน่นอนความรู้เดิมของผู้เรียนแต่ละคนไม่เท่ากันครับ จึงเป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องค้นให้พบ หลังจากนั้นต้องจัดเรียงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการให้เรียนรู้ออกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน นำเสนอกรอบ หลักการกว้าง ๆ ให้ผู้เรียนเห็นภาพก่อนที่จะให้เรียนรู้

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่ออนาคตไล่ล่าเรา

สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแนะแนวให้กับครูแนะแนวในจังหวัด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567

ฉากทัศน์สังคมการทำงานของไทยก่อนปี 2030

“ฉากทัศน์สังคมการทำงานก่อนปี 2030” กองส่งเสริมการมีงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน รัชดาภิเษก วันที่ 14 มีนาคม 2567