จบ ม.3 เรียนต่ออะไรดี คำถามสุดฮิตในช่วงเวลานี้ (เมษายน ของทุกปี) อาจเป็นช่วงเวลาที่สับสนสำหรับน้อง ๆ ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมถึงบรรดาผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา ตลอดจนคุณพี่ เพราะเป็นช่วงที่จะต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อ (เรียนต่อมัธยมปลายสายสามัญก็คือ ม.4-ม.6 นั่นเอง) หรือจะพอไว้แค่นี้ (หันไปเรียนมัธยมปลายสายอาชีพดีกว่า)
ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนเลยว่า หากถามพ่อแม่ว่าเมื่อลูก จบ ม.3 แล้ว อยากให้ลูกเรียนต่ออะไร จากประสบการณ์ของผมตอบได้เลยว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 จะให้เรียนต่อมัธยมปลายสายสามัญ และที่สำคัญต้องเป็น…….สายวิทย์……ด้วย (จริงมั้ยเอ่ย) สำหรับเหตุผลนะเหรอ ก็คงจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ คือประมาณว่าเรียนสายวิทย์มีสิทธิ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หลายคณะ (จริงหรือเปล่าน๊า) และยังแอบหวังลึก ๆ ว่าจะต้องเป็น แพทย์ วิศวะ สถาปัตย์ อะไรแถว ๆ นี้
จากประเด็นความหวังดีของพ่อกับแม่ข้างต้นนั้น ถ้ามันสอดคล้องกับความชอบ ผสานกับทักษะด้านปัญญาอันดีเยี่ยมของลูก ก็จะส่งผลให้สุขสมหวังกันทุกฝ่าย แต่ถ้ามันไม่ใช่ละครับ….ความหวังดีนั้นจะถูกแฝงด้วยความประสงค์ร้ายในทันที
เรียนสายวิทย์ ยากเกินไป?
ม.ปลาย สายวิทย์เรียนอะไรบ้าง มันยากมากเลยหรือ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า “ความยาก ใช้เครื่องมืออะไรวัด” (ไม่รู้ใช่มั้ย) จริง ๆ แล้วทุกเรื่องบนโลกใบนี้ล้วนยากท้้งนั้นถ้าเราไม่อยากทำ ลองนึกถึงตอนที่เราต้องตื่นนอนช่วงเช้าในวันอาทิตย์ขณะที่ฝนตกพรำ ๆ ดูสิครับ มันยากมั้ย แต่ถ้าวันนี้เป็นวันที่คุณมีนัดสำคัญ เช่น เดทครั้งแรก ต้องไปเข้าแถวซื้อตั๋วคอนเสิร์ต อะไรทำนองนี้ คุณจะไม่อิดออดที่จะลุกจากที่นอนเลยใช่มั้ย ผมแค่อยากบอกว่า
“ถ้า..อยาก..มากมันจะยากน้อย แต่ถ้า..อยาก..น้อยมันก็จะยากมาก”
ความอยากเท่านั้นที่จะเป็นแรงผลักดันให้เราทำอะไรที่ยาก ๆ ได้สำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ลองนึกดูสิครับว่าเราสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตบางเรื่อง โดยเริ่มต้นจากความอยากก่อนทั้งนั้น ความอยากจะทำให้เราลงมือหาความรู้ และฝึกทักษะ เพราะฉะนั้น ม.ปลาย สายวิทย์ ยากจริงหรือ ให้ใช้ความอยากของลูกเป็นเครื่องมืดวัดครับ มิเช่นนั้นจะกลายเป็น “ม.ปลาย สายวิทย์ เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน” แต่จริง ๆ แล้วสายวิทย์ก็มีข้อดีนะครับสำหรับคนที่ชอบและอยากจริง ๆ
จบ ม.3 ถ้าไม่เรียน ม.ปลาย แล้วจะเรียนอะไร?
นอกจากสายวิทย์-คณิตแล้ว ก็จะมีสายที่เรียนหนักน้อยลงมาหน่อย คือ สายศิลป์ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นศิลป์คำนวณ ศิลป์ภาษาต่าง ๆ ซึ่งก็ยังมีเป้าหมายเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเช่นกันครับ เพียงแต่หันทิศออกจากกลุ่มที่เน้นวิทยาศาสตร์มาก ๆ มาให้ความสำคัญกับการใช้ทักษะด้านอื่น ๆ แทน หรือไม่ก็หันไปเรียนมัธยมปลายสายอาชีพเลย คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. ซึ่งมีสาขาวิชาให้เลือกมากมาย
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแบบหลักสูตรเฉพาะทางที่เน้นการพัฒนาความสามารถเฉพาะด้านโดยตรงเกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่น วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ระดับเตรียมอุดมดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับผู้ที่มีความถนัดด้านการร้องและเล่นดนตรีทุกชนิด วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำหรับผู้ที่มีความชอบด้านการรำ การแสดงต่าง ๆ โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ไทย-เยอรมัน ที่กำกับดูแลโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น
พ่อกับแม่ต้องเป็น Facilitator
พ่อกับแม่ต้องช่วยลูกค้นหาความถนัด โดยสวมบทบาทเป็น Facilitator คือ ผู้เอื้ออำนวยให้ลูกได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นความคิดโดยใช้คำถามปลายเปิด เช่น อาชีพในฝันของลูกคืออะไร เพราะอะไร แล้วต้องเรียนอะไรถึงจะทำอาชีพนี้ได้ ระหว่างถามหรือพูดคุยต้องสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย เป็นกันเอง สร้างความไว้วางใจ เช่น ถามตอนเวลาขับรถไปเที่ยว หรือทานข้าวร่วมกัน เมื่อพอจะเห็นหรือทราบว่าลูกอยากเรียนอะไรเราก็ต้องหาวิธีประสานงานหรือติดต่อให้ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องนั้นเพิ่มเติม เช่น ร่วมกันหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต สนับสนุนให้ไปเรียนเสริมในด้านนั้น ตลอดจนเป็นผู้ช่วยสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนในอาชีพนั้น ๆ (ถ้าลูกอยากเป็นเกมเมอร์ พ่อกับแม่ก็คงต้องเริ่มเรียนรู้เรื่องเกมไว้ด้วยนะ) และบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการเป็นผู้สังเกตพฤติกรรม ความรู้สึก และวิธีคิดของลูกเพื่อคอยควบคุมและปรับกระบวนความคิดตลอดเวลา โดยใช้คำถามปลายเปิด
ท้ายนี้ผมในฐานะที่เป็นครู (และก็มีบทบาทเป็นพ่อด้วย) อยากจะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนว่าเด็กทุกคนมีความถนัดเป็นของตนเอง เพียงแต่เราต้องช่วยกันหาให้พบแล้วก็ส่งเสริม และที่สำคัญ ผลการเรียน ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของโลกใบนี้ เป็นแค่ตัวชี้วัดที่บอกว่าลูกเราประสบความสำเร็จในโรงเรียนได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดบอกว่าลูกเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้หรือไม่ เพราะ
โรงเรียน….จะให้บทเรียนก่อนแล้วค่อยทดสอบเรา
แต่ชีวิต….จะทดสอบเราก่อนแล้วค่อยให้บทเรียน