“การเลี้ยงลูกในรถ” ของผมในที่นี้ หมายถึง การให้ลูกตื่นแต่เช้ามืด รีบแต่งตัว กินข้าวในรถ นอนในรถ เพื่อไปเรียนที่โรงเรียนไกล ๆ บ้าน ด้วยเหตุผลเพียงชื่อเสียงของโรงเรียน ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เคยอยู่ในหัวสมองของผมเลยตั้งแต่ลูกเกิดมา
ผมไม่ต้องการ
เมื่อลูกผมต้องเข้าโรงเรียน (สิบกว่าปีก่อน) ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับการเลือกโรงเรียนคือ ใกล้บ้านที่สุด ไม่ต้องเดินทางนาน ๆ เพราะ ผมไม่อยากให้ลูกโตในรถ โรงเรียนต้องเป็นสถานที่ที่เด็กไปแล้วมีความสุข อยากไปทุกวัน จึงมองหาโรงเรียนที่เน้นกิจกรรม ผมส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรม ไม่เน้นเรียน (ข้อนี้ดูขัดแย้งกับอาชีพตนเอง) เพราะกิจกรรมจะทำให้เค้าเรียนรู้ด้านต่าง ๆ มากมาย ต้องเป็นโรงเรียนที่มีระบบดูแลความปลอดภัยดีๆ เรียนยาว ๆ ได้ถึง ม.ปลาย (เผื่อไว้ก่อน ไม่ต้องย้ายบ่อย) ซึ่งผมก็ได้พบโรงเรียนแบบที่ว่า ใช้เวลาเพียง 5 นาทีถึงโรงเรียน มีตั้งแต่ประถมต้นจนถึงมัธยมปลาย และก็รู้สึกดีที่ไม่ต้องเลี้ยงลูกในรถ
หลายปีต่อมา เมื่อลูกสาวคนล็กของผมกำลังจะจบมัธยมศึกษาตอนต้น มีเหตุผลบางประการที่ทำให้ต้องย้ายไปเรียนมัธยมศึกษาปลายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งไกลบ้านมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมจำเป็นต้องเลี้ยงลูกในรถ ซึ่งผมไม่ชอบและไม่คิดเลยว่าจะต้องมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชีวิต
มันดีอย่างนี้นี่เอง
ทุกวันนี้ผมต้องตื่น ตี 4 ครึ่ง อาบน้ำแต่งตัว แล้วปลุกลูกสาวตอน ตี 5 เราสองคนต้องออกจากบ้านไม่เกิน 6 โมงเช้า มิเช่นน้ันจะถึงโรงเรียนเกิน 8 โมงอย่างแน่นอน เหตุการณ์ลักษณะเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว (ตอนนี้อยู่ ม.5) การที่ผมได้อยู่กับลูกสาวบนรถ 2 คนทุกเช้าและเย็น (ไปรับกลับบ้าน) รวม ๆ แล้ว ก็จะได้อยู่ด้วยกันบนรถ ประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่งจะรู้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากที่สุด เป็นเวลาที่เราได้พูดคุยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว เรื่องเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องครู เรื่องอนาคต เรื่องที่ดีใจ เรื่องที่เสียใจ เรื่องที่ต้องปรับปรุง แต่ช่วงปลายสัปดาห์ วันพฤหัส ศุกร์ ก็จะเงียบเหงาหน่อย เพราะเริ่มเพลียจากการเดินทาง เธอก็จะหลับทั้งขาไปและขากลับ แต่มันก็ทำให้ผมขับรถนิ่มขึ้น ปลอดภัยขึ้น
กระตุ้นการเรียนรู้
“วันนี้เรียนเป็นยังไงบ้าง” “ผอ.พูดอะไรตอนเช้า” “วันนี้เรียนวิชาอะไรสนุกที่สุด” “วันนี้ฝนตกเพื่อนมาสายเยอะมั้ย แล้วครูทำโทษหรือเปล่า” “หนูอยากเป็นอะไรในอนาคต” “บ้านเพื่อนคนไหนไกลสุด” “เพื่อนที่ชื่อ….เป็นไงบ้าง” (แกล้งเรียกชื่อเพื่อนผิดคนบ้าง) ลูกสาวตัวน้อยของผมก็จะพรั่งพรูออกมาเป็นเรื่องเป็นราว ผมได้เพียงแต่ฟัง ยิ้ม เก็บข้อมูลเพื่อนำมาประเมินความคิดเห็น เราจะรู้ว่าลูกชอบวิชาอะไร เพราะอะไร รู้จักเพื่อนลูกทุกคน รู้ว่าลูกเราคิดอย่างไรกับเพื่อนแต่ละคน ทัศนคติของลูกที่มีต่อครู ต่อโรงเรียน ต่อวิชาที่เรียนเป็นอย่างไร
ผมมักจะใช้คำถามปลายเปิดกระตุ้นให้เธอแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา รับฟังอย่างตั้งใจ รอคำถามจากเธอ ซึ่งเธอมักจะมีคำถามเสมอเมื่อเล่าเรื่องราวต่าง ๆ จบ เช่น “ถ้าป๊าเป็นหนูป๊าจะทำยังไงกับเรื่องนี้ค๊ะ ?”
ใช้การสอนแบบ
เมื่อเราได้รับรู้ถึงแนวคิด และสิ่งที่อยู่ในใจ เราก็จะสามารถกำกับทิศทางทั้งความคิดและพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบในเส้นทางที่เราต้องการพาไปได้ บางครั้งเด็ก ๆ ก้มีความคิดเห็นก็ออกนอกเส้นทางบ้าง แต่ก็จำเป็นต้องปล่อยให้คิดไป อย่างน้อยก็ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ทางการศึกษาเรียกว่ากระบวนการนี้ว่า Scaffolding (ถ้าแปลตรงตัวก็คือ “นั่งร้าน” นั่นเอง ครับใช่ครับ ที่ไว้ต่อขึ้นไปข้าง ๆ อาคารเพื่อทาสีหรือฉาบปูนนั่นแหละครับ)
การสอนแบบ Scaffolding มีที่มาจากทฤษฎีวัฒนธรรมทางสังคมของ วีกอตสกี้ (Vygotsky’s Sociocultural Theory) ที่เชื่อว่า การพัฒนาและการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของสังคมต่อการพัฒนาทางปัญญาของผู้เรียน ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมุมมองทางวัฒนธรรมของผู้เรียนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาทางปัญญา (สุรางค์ โค้วตระกูล, 2541)
การได้อยู่กับคนที่เรารักคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนาใช่มั้ยครับ เพียงแต่ใช้เวลาที่อยู่ด้วยกันนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุย แลกเปลี่ยน ฟังด้วยหัวใจ แล้วเราจะรู้ว่าเราก็เรียนรู้จากลูกได้เหมือนกัน ใครที่ต้องเลี้ยงลูกบนรถแบบผม แทนที่จะปล่อยให้ลูกเล่นเกมบนมือถือ หรือ แท็บเล็ต ลองใช้วิธีการนี้ดูก็ได้นะครับ ได้ผลอย่างไรมาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
Feature Image by Limor Zellermayer on Unsplash